ศิลปศึกษา

 การแรเงา






    การแรเงา  คือ การสร้างรอยดินสอ ปากกาหรืออื่นๆ ด้วยการควบคุมน้ำหนักผ่อนหนักเบาในการ ขีด เขียน เกลี่ย ปาด ทับ ไขว้ และใช้รอยเหล่านี้สร้างน้ำหนักให้เกิดลักษณะผิวของธรรมชาติ หรือหุ่นที่ใช้ในการเขียน การแรเงาจึงเป็นการสร้างความเข้มด้วยระยะต่างๆ ในรูปทรงของงานชิ้นหนึ่งๆ เมื่อใช้ตามลักษณะแสงเงาจะทำให้เกิดมิติของมวลสารและระยะ หรือปริมาณมาตรของรูปทรง น้ำหนักที่ไล่เรียงจากอ่อนไปหาแก่อย่างสม่ำเสมอนี้ เรียกว่า ค่า (VALUE) ของสีหรือน้ำหนักที่ระบายเป็นระยะอ่อน กลาง แก่ ค่าของระยะอ่อนแก่เหล่านี้นิยมเรียกกันว่า น้ำหนัก



     การแรเงาน้ำหนักจึงเป็นการสร้างเงาในภาพ ให้ดูมีความลึกมีระยะใกล้ไกลและดูมีปริมาตร เปลี่ยนค่าของรูปร่างที่มีเพียง 2 มิติให้เป็น 3 มิติ ทำให้รูปร่างที่มีเพียงความกว้าง-ยาวเปลี่ยนค่าเป็นรูปทรงมีความตื้นลึกหนา บางเกิดขึ้น ความตื้นลึกหนาบางนี่เป็นความรู้สึกเท่านั้น และการทำให้เกิดภาพเช่นนี้ก็คือ เทคนิคในการสร้างภาพลวงตา (ILLUSION) เป็นวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างหนึ่ง



น้ำหนักในการวาดเขียนจึงมีความหมายดังนี้
      1.  บริเวณมืดและสว่างขององค์ประกอบต่างๆ ในภาพเขียน
      2.  แสดงความอ่อนแก่ระดับต่างๆ จากดำมาขาวให้แก่รูปทรงที่มีอยู่ในภาพ นัยหนึ่งคือ ทำหน้าที่แสงเงาให้แก่รูปทรง

ลักษณะของน้ำหนัก จะเป็นดังนี้
      1.  มี 2 มิติ คือ กว้างกับยาว
      2.  มีทิศทาง
      3.  มีความยาว ความสั้น ความโค้ง หรือเป็นคลื่น ฯลฯ
      4.  มีรูปร่าง กลม เหลี่ยม หรืออิสระตามลักษณะของรูปทรง
      5.  มีความอ่อน แก่ และลักษณะผิวต่างๆ ตามแบบหรือหุ่นที่วาด

หน้าที่ของน้ำหนัก ในการวาดเขียนจำแนกออกได้ ดังนี้
      1.  ให้ความแตกต่างระหว่างรูปทรงกับพื้นที่ หรือรูปทรงกับที่ว่าง
      2.  ให้ความรู้สึกเคลื่อนไหวต่อการนำสายตาผู้ดู บริเวณที่น้ำหนักตัดกันจะดึงดูดความสนใจ      ถ้าตัดกันหลายแห่งจะนำสายตาให้เคลื่อนที่จากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณ หนึ่ง      ทั้งนี้จะเป็นไปตามจังหวะที่ผู้เขียนกำหนดไว้นั่นเอง ซึ่งอาจกลมกลืนหรือตัดกันอย่างรุนแรง
      3.  ให้ความเป็น 2 มิติ หรือ 3 มิติแก่รูปทรง
      4.  ให้ความรู้สึกในภาพ ด้วยการประสานกันของน้ำหนัก
      5.  ให้ความลึกแก่ภาพ

      แนวคิดในการแรเงาน้ำหนัก
     เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ได้ เพราะอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ หรือต้นแสงจากแหล่งกำเนิดอื่น เมื่อมีแสงสว่างก็ต้องมีเงาควบอยู่ด้วย และแสงเงาทำให้เรามองเห็นวัตถุที่ผิวสีเดียวกันมีน้ำหนักแตกต่างกัน เช่น วัตถุสีขาวส่วนที่ถูกแสงจะเป็นสีขาวสว่างจ้า แต่ส่วนที่ไม่ถูกแสงจะขาวหม่น ทั้งที่วัตถุนั้นก็เป็นสีขาวเท่ากันตลอดพื้นผิว
     เมื่อธรรมชาติของแสงเงาให้ผลที่มองเห็นเช่นนี้ ผู้เขียนจำต้องเข้าใจการจัดน้ำหนักอ่อนแก่ให้ได้ใกล้เคียงกับน้ำหนักของแสง ที่ตกกระทบผิววัตถุ เพราะความแตกต่างของน้ำหนักทำให้เกิดความรู้สึกที่ต่างกันไปได้ เช่น น้ำหนักสีที่อ่อนให้ความรู้สึกเบา น้ำหนักสีที่แก่ทำให้ดูแล้วรู้สึกหนัก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดระยะต่างๆ ในการมองเห็น ตลอดจนความรู้สึกด้านความงามในทางศิลปะ

เทคนิคการแรเงาน้ำหนักที่นิยมใช้กัน

      1.  ให้แสงเข้าทางด้านหนึ่ง อีกด้านหนึ่งเป็นเงา เป็นวิธีการที่ใช้ในการเขียนภาพเหมือนจริงทั่วไป
      2.  ให้แสงเข้าตรงหน้า ส่วนที่อยู่ใกล้จะมีน้ำหนักอ่อน ส่วนที่อยู่ไกลจะมีน้ำหนักแก่ น้ำหนักที่ใช้ในวิธีนี้เรียกว่า จิอารอสคูโร (CHIAROSCURO) เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ความสว่างและความมืด อันต่างไปจากการให้ปริมาตรของรูปทรงด้วยการให้แสงเงาทั่วไป
      3.  กำหนดให้แสงขึ้นจากจุดกลางภาพ ส่วนมากจะใช้แสงเทียนหรือแสงไฟฟ้า
      4.  ให้แสงเกิดขึ้นในจุดที่ต้องการ ส่วนอื่นให้อยู่ในเงามืด
      5.  ให้แสงกระจายเลื่อนไหลไปทั่วภาพ เน้นความใกล้ ไกล ลึก ตื้นด้วยบรรยากาศของน้ำหนักจนเกือบไม่คำนึงถึงปริมาตรของรูปทรง
      6.  ให้น้ำหนักอ่อนทั้งรูปและพื้น ไม่เน้นปริมาตรของรูปทรง แต่เน้นความสว่างของแสงให้จ้า ไม่มีเงา
      7.  ให้แสงเต้นระริกกระจายไปทั่วๆ ภาพ

ลักษณะของแสงเงาที่ใช้ในการวาดเขียนแบ่งออกเป็น 6 ค่า

      1.  แสงสว่างที่สุด (HIGH LIGHT) เป็นบริเวณที่วัตถุกระทบแสงโดยตรง ทำให้ส่วนนั้นมีน้ำหนักอ่อนที่สุด ถ้าวัตถุเป็นสีขาวบริเวณนั้นจะปล่อยว่าง ไม่ต้องลงเงาก็ได้
      2.  แสงสว่าง (LIGHT) เป็นบริเวณที่ไม่ถูกแสงโดยตรง แต่มีบางส่วนที่ได้รับอิทธิพลจากแสง การลงน้ำหนักบริเวณนี้ต้องให้อ่อนจางแต่แก่กว่าบริเวณแสงสว่างที่สดุดเล็ก น้อย
      3.  แสงสะท้อน (REFLECTED LIGHT) เป็นบริเวณของวัตถุที่ไม่ได้กระทบแสงโดยตรง หากอยู่ในตำแหน่งที่เป็นเงาแต่ถูกแสงสะท้อนจากวัตถุที่อยู่ใกล้ๆ กันมากระทบ น้ำหนักของบริเวณนี้จะอ่อนกว่าบริเวณที่เป็นเงา ค่าของแสงสะท้อนจะให้ความรู้สึกในภาพมีมิติ มีมวลสาร มีชีวิตชีวา ดูเหมือนมีอากาศอยู่รอบๆ
      4.  เงา (DARK) เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลของแสงน้อยมาก ซึ่งเงาบริเวณนี้จะต้องแรเงาให้มีน้ำหนักเข้มกว่าบริเวณแสงสว่างพอประมาณ พอที่จะแยกแสงและเงาออกจากกันได้
      5.  เงามืด (DARKEST) เป็นบริเวณที่ไม่ได้รับอิทธิพลของแสงจึงต้องแรเงาด้วยน้ำหนักที่เข้มกว่าบริเวณอื่นๆ ทั้งหมดของวัตถุ
      6.  เงาตกทอด (CAST SHADOW) เป็นบริเวณที่เงาของวัตถุนั้นๆ ทอดไปตามพื้นที่รองรับวัตถุ โดยจะมีน้ำหนักแก่กว่าบริเวณแสงสะท้อน ขนาดและรูปร่างของเงาตกทอดจะขึ้นอยู่กับทิศทางของแสง รูปร่างของวัตถุและพื้น


อุปกรณ์การวาดภาพแรเงา



1. คัทเตอร์สำหรับเหลาดินสอไม้
2. ยางลบ
3. ไส้ดินสอกด 4B
4. ไส้ดินสอกด 2B
5. ดินสอไม้ B+2B
ขั้นตอนการวาด





ขั้นแรก การเรียนรู้น้ำหนักมือ การบังคับทิศทางมือ ต้องฝึกจนจำความหนักเบาได้ดังนี้
     1.วาดรูป สี่เหลี่ยม 2 x 2 นิ้ว 4 แถว แถวละ 5 ช่อง แรเงาจากเข้มมากจนจางลง เป็น 5 ระดับความเข้ม แต่ละช่องต้องแรเงาให้สีสม่ำเสมอกัน

ดินสอ HB ตีกรอบ ดินสอ EE แรเงา จับดินสอคล้ายกับจับปากกาแล้วขีดไปทิศทางเดียวกันสั้นไม่ต้องยาวมาก ไม่ตะแคงดินสอแบบที่แรเงากันตอนเด็กๆ ดินสออย่าทู่มากเส้นจะไม่สวย

     2.วาดรูป สี่เหลี่ยม 4 x 4 นิ้ว 2 แถว แถวละ 2 ช่อง แรเงาจากเข้มมากจนจางลง 4 ระดับความเข้ม แต่ละช่องต้องแรเงาให้สีสม่ำเสมอกันฝนลากยาวๆ ได้

     3.วาดรูป สี่เหลี่ยม 4 x 8 นิ้ว 2 ช่อง ช่องแรก แรเงาจากเข้มมากจนจางลง ช่อง 2 แรเงาจากอ่อนถึงเข้มมาก แต่ละช่องต้องแรเงาให้สีสม่ำเสมอกัน



เทคนิค ดินสอ HB ตีกรอบ ดินสอ EE แรเงา สำคัญ ดินสอเหลาต้องแหลมพอสมควร ทิศทางที่แรเงาต้องเป็นแนวเดียวกัน บนลงล่าง-ล่างขึ้นบน หรือ ทะแยงบนลงล่าง-ล่างขึ้นบน จับดินสอเหมือนจับปากกาทำมุมประมาณ 45 องศา แต่ละช่องต้องตั้งใจและใช้เวลานานพอสมควรไม่ควรรีบร้อน

ขั้นสอง การเรียนรู้เรื่องแสงเงา

     1.วาดรูปทรงกระบอก แรเงาให้ดูเป็นรูป 3 มิติ มีเงาตกทอด

     2.วาดรูปทรงกลม แรเงาให้ดูเป็นรูป 3 มิติ มีเงาตกทอด

     3.วาดรูปทรงกระบอก 3 อัน ให้แสงส่องคนละด้าน ทั้งนอนและเอียง อาจวาดรูป สามเหลี่ยม หกเหลี่ยมเพื่อเป็นการฝึกเพิ่มเติม

ที่มา   ahttps://sites.google.com/site/pukpuykaojoho/sux-kar-reiyn-kar-sxn-wicha-silpa

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น